ที่เที่ยว

  • ข้อมูล
  • แผนที่
  • Street View
เพิ่มรูป แก้ไข View : 7,491

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดสุโขทัยตามทางหลวงแผ่นดินสายสุโขทัย-ตาก ทางหลวงหมายเลข 12 ไปทางทิศตะวันตก 12 กม. ถนนหลวงตัดผ่านกลางเมืองจากตะวันออกไปตะวันตก เมื่อผ่านเข้าเขตเมืองเก่าจะแลเห็นยอดพระเจดีย์แบบต่างๆ อันสง่างามและวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ เปิดบริการตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. อัตราค่าเข้าชมท่านละ 20 บาท กำแพงเมืองสุโขทัยตั้งอยู่ตำบลเมืองเก่า เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นกำแพงพูนดิน 3 ชั้น โดยการขุดเอาดินขึ้นมาถมเป็นกำแพง และพื้นดินที่ขุดขึ้นยังเป็นคูน้ำไว้ใช้สอยและเป็นกำแพงน้ำขึ้นอีก 2 ชั้น กำแพงด้านทิศเหนือจดทิศใต้ยาว 2,000 เมตร ด้านทิศตะวันตกยาว 1,600 เมตร มีประตูเมือง 4 ประตู ด้านเหนือเรียกว่า "ประตูศาลหลวง" ด้านใต้เรียกว่า "ประตูนะโม" ด้านทิศตะวันออกเรียกว่า "ประตูกำแพงหัก"ด้านทิศตะวันตกเรียกว่า "ประตูอ้อ" ภายนอกกำแพงเมืองในรัศมี 5 กม. มีโบราณสถานประมาณ 70 แห่ง สร้างขึ้นไว้ในพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ ได้รับการบูรณะซ่อมแซมโดยกรมศิลปากร และได้รับการจัดตั้งให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การ UNESCO ในปี2537 การเดินทางไปอุทยานฯ จากตัวเมืองสุโขทัย นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถประจำทางสายเมืองเก่า (รถสองแถว) จอดรอบบริเวณท่ารถใกล้ป้อมยามตำรวจ ห่างจากสะพานข้ามแม่น้ำยมไปทางฝั่งตะวันตกราว 200 เมตร มีรถออกทุก 20 นาที ค่าโดยสารคนละ 5 บาท ตั้งแต่ 06.00-18.00 น. ทุกวัน และจากอุทยานฯ มีรถจอดที่บริเวณลานจอดรถ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยานประวัติศาสตร์
 ภายในกำแพงเมือง

วัดมหาธาตุ

เป็นวัดใหญ่อยู่กลางเมือง สร้างสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ มีพระเจดีย์ต่างๆ รวมถึง 200 องค์ นับเป็นวัดสำคัญประจำกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์มหาธาตุ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ศิลปะแบบสุโขทัยแท้ตั้งเป็นเจดีย์ประธาน ล้อมรอบด้วยเจดีย์ 8 องค์ บนฐานเดียวกัน คือ ปรางค์ศิลาแลงตั้งอยู่ที่ทิศทั้ง 4 และเจดีย์แบบศรีวิชัยผสมลังกาก่อด้วยอิฐอยู่ที่มุม ด้านตะวันออกบนเจดีย์ประธานมีวิหารขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง มีแท่นซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พระศรีศากยมุนี ปัจจุบันได้รับการเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ กรุงเทพฯ ที่ด้านเหนือและด้าน ไต้เจดีย์มหาธาตุมีพระพุทธรูปยืนภายในซุ้มพระ เรียกว่า "พระอัฎฐารศ" ด้านใต้ยังพบแท่งหินเรียกว่า "ขอมดำดิน" อีกด้วย

วัดมหาธาตุ

----------------------------------------------------------------- 

 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง

เป็นสถานที่รวบรวม และจัดแสดงศิลปโบราณที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีภายในเมืองสุโขทัยและที่ประชาชนมอบให้ บริเวณพิพิธภัณฑ์จะแบ่งส่วนการแสดงโบราณวัตถุไว้เป็น 3 ส่วนคือ

อาคารลายสือไท 700 ปี เป็นอาคารใหม่ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าอาคารใหญ่ เป็นที่จัดแสดงศิลปวัตถุสมัยสุโขทัย เช่น พระพุทธรูป เครื่องใช้ ถ้วยชาม สังคโลก ศิลาจารึก ฯลฯ

อาคารพิพิธภัณฑ์ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น แสดงศิลปวัตถุในยุคสมัยต่างๆ มากมาย อาทิ พระพุทธรูปสำริด โอ่ง สังคโลก เครื่องศาสตราวุธ เครื่องถ้วยชามสังคโลก เงินตรา ท่อน้ำระบบชลประทานสุโขทัย ฯลฯ

พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง จะอยู่ด้านนอกโดยรอบอาคารใหญ่ เป็นที่ตั้งแสดงศิลปะวัตถุโบราณต่างๆ อาทิ พระพุทธรูปศิลา แผ่นจำหลัก รูปทรงอาคารไทยแบบต่างๆ เตาทุเรียงจำลอง เสมาธรรมจักศิลา เป็นต้น

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวัน ยกเว้น วันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. ค่าธรรมเนียมเข้าชม คนละ 30 บาท กรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะควรติดต่อล่วงหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง ถนนจรดวิถีถ่อง ตำบลเมือง จังหวัดสุโขทัย 64210 โทร. (055) 612167

อาคารพิพิธภัณฑ์  

-----------------------------------------------------------------

ศาลตาผาแดง

เป็นศาสนสถานตามคติศาสนาฮินดู ก่อด้วยศิลาแลง ส่วนยอดหักพังลงหมด รูปแบบทางสถาปัตยกรรม และประติมากรรมศิลาที่เป็นรูปเคารพเปรียบเทียบได้กับศิลปะในสมัยนครวัต (ราว พ.ศ. 1650-1720) จัดเป็นโบราณสถานที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในเมืองสุโขทัย

-----------------------------------------------------------------

เนินปราสาทพระร่วง

หรือเขตพระราชวัง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวัดมหาธาตุ เป็นซากอาคารก่อด้วยอิฐ ขุดแต่งบูรณะแล้ว มีฐานบัวโดยรอบทำด้วยปูนปั้น สันนิษฐานว่าเนินแห่งนี้คือที่ตั้งของพระที่นั่ง หรือปราสาท ที่ประทับของกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงที่ครองกรุงสุโขทัยในกาลก่อน แต่องค์ปราสาทหาชิ้นดีไม่ได้แล้ว เพราะคงจะสร้างด้วยเครื่องไม้ เดี๋ยวนี้มีแต่ซากกระเบื้องมุงหลังคากระจัดกระจายทั่วไป ณ เนินปราสาทแห่งนี้เองที่ได้ค้นพบศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงและพระแท่นมนังคศิลา

-----------------------------------------------------------------

วัดตระพังเงิน

(คำว่า "ตระพัง" หมายถึง สระน้ำ หรือหนองน้ำ) เป็นโบราณสถานสำคัญตั้งอยู่บริเวณขอบตระพังเงินด้านทิศตะวันตก มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือดอกบัวตูมเป็นประธาน บริเวณเรือนธาตุจะมีชั้นประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนทั้ง 4 ทิศ ด้านหน้าเป็นวิหาร 7 ห้อง ฐานและเสาก่อด้วยศิลาแลง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย บริเวณตรงกลางตระพังเป็นเกาะขนาดเล็ก เป็นที่ตั้งของพระอุโบสถ บริเวณตระพังจะมีดอกบัวขึ้นอยู่รอบสระสวยงามมาก

วัดตระพังเงิน 

-----------------------------------------------------------------

พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 ตั้งอยู่ริมถนนจรดวิถีถ่องทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ ลักษณะพระบรมรูป พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นพระบรมรูปหล่อด้วยโลหะทองเหลืองผสมทองแดงรมดำ ขนาด 2 เท่าขององค์จริง สูง 3 เมตร ประทับนั่งห้อยพระบาทบนพระแท่นมนังคศิลาบาตร พระหัตถ์ขวาถือคัมภีร์ พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าทรงสั่งสอนประชาชน พระแท่นด้านซ้ายมีพานวางพระขรรค์ไว้ข้างๆ ลักษณะ พระพักตร์เหมือนอย่างพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยตอนต้น ถ่ายทอดความรู้สึกว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีน้ำพระทัยเมตตากรุณา ยุติธรรมและเฉียบขาด ที่ด้านข้างมีภาพแผ่นจำหลักจารึกเหตุการณ์เกี่ยวกับ พระราชกรณียกิจของพระองค์ตามที่อ้างถึงในจารึกสุโขทัย

อนุสาวรีย์พ่อขุนรามฯ

-----------------------------------------------------------------

นอกกำแพงเมืองด้านเหนือ

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

เป็นอาคารทรงไทยสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ ใกล้กับวัดพระพายหลวง เป็นศูนย์ให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย รวมทั้งจัดแสดงแบบจำลองของโบราณสถานต่างๆ ในเขตเมืองเก่าสุโขทัย นักท่องเที่ยว ควรเริ่มต้นชมอุทยานฯ จากจุดนี้เพื่อจะได้เห็นภาพรวมของสุโขทัยในอดีต

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

-----------------------------------------------------------------

 

วัดพระพายหลวง

ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือ เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากวัดมหาธาตุ วัดนี้มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น มีปรางค์ 3 องค์ เป็นปรางค์ประธานของวัด ทำด้วยศิลาแลง แบบศิลปะลพบุรี ยังคงเห็นลายปูนปั้นที่ปรางค์ด้านทิศเหนือ ด้านหน้าปรางค์มีฐานวิหารเจดีย์ที่ปรักหักพัง ทางด้านประติมากรรม มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางต่างๆ เช่น นั่ง ยืน เดิน นอน ซึ่งส่วนใหญ่ชำรุดแล้วประดิษฐานที่มณฑปและซุ้มเจดีย์

วัดพระพายหลวง

-----------------------------------------------------------------

แหล่งโบราณคดีเครื่องปั้นดินเผาสุโขทัย (เตาทุเรียง)

อยู่ใกล้วัดพระพายหลวงบริเวณแนวคูเมืองเก่าที่เรียกว่า "แม่โจน" เป็นเตาเผาถ้วยชามสมัยสุโขทัย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ค้นพบเตาโดยรอบ 49 เตา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่บริเวณคันคูแม่น้ำโจนด้านทิศเหนือ 37 เตา ด้านทิศใต้ข้างกำแพงเมือง 9 เตา และด้านทิศตะวันออก 3 เตา เตาเผาเครื่องสังคโลก มีลักษณะคล้ายประทุนเกวียน ขนาดกว้าง 1.50-2.00 เมตร ยาว 4.5 เมตร เครื่องปั้นดินเผาที่พบบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นประเภทถ้วยชามมีขนาดใหญ่ น้ำยาเคลือบขุ่นสีเทาแกมเหลือง มีลายเขียนสีดำ ส่วนใหญ่ทำเป็นรูปดอกไม้ ปลา และจักร

-----------------------------------------------------------------
 

วัดศรีชุม

ตั้งอยู่ห่างจากวัดพระพายหลวงไปทางทิศตะวันตก 800 เมตร เป็นวัดที่ประดิษฐานพระอจนะ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย และลักษณะของวิหารอันเป็นที่ประดิษฐานพระอจนะนั้น สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมลักษณะคล้ายมณฑป แต่หลังคาพังทลายลงมาหมดแล้ว เหลือเพียงผนังทั้งสี่ด้าน ผนังแต่ละด้านก่ออิฐถือปูนอย่างแน่นหนา ผนังทางด้านใต้มีช่องให้คนเข้าไปภายใน และเดินขึ้นไปตามทางบันไดแคบๆ ถึงผนังด้านข้างขององค์พระอจนะ หรือสามารถขึ้นไปถึงสันผนังด้านบนได้ ภายในช่องกำแพงตามฝาผนังมีภาพเขียนเก่าแก่แต่เลอะเลือนเกือบหมด ภาพเขียนนี้มีอายุเกือบ 700 ปี นอกจากนี้แล้วบนเพดานช่องบันไดยังมีแผ่นหินชนวนขนาดใหญ่แกะสลักลวดลายต่างๆ ไว้มีจำนวนทั้งหมด 50 ภาพ เมื่อเดินตามช่องทางบันไดขึ้นไปจะโผล่บนหลังคาวิหารมองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของเมืองเก่าสุโขทัยได้โดยรอบ เพราะเหตุใดวิหารวัดศรีชุมจึงมีความเร้นลับซ่อนอยู่

พระอจนะ

-----------------------------------------------------------------

นอกกำแพงเมืองด้านตะวันตก

 วัดสะพานหิน

โบราณสถานด้านทิศตะวันตกของกำแพงเมืองที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง วัดนี้ตั้งอยู่บนเนินลูกเตี้ยสูงประมาณ 200 เมตร มีทางเดินปูด้วยหินชนวนแผ่นบางๆ จนถึงบริเวณลานวัด มีวิหารก่อด้วยอิฐ มีเสาก่อด้วยศิลาแลง 4 แถว 5 ห้อง ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระปางประทานอภัยสูง 12.50 เมตร เรียกว่า "พระอัฏฐารศ"

 

-----------------------------------------------------------------

เขื่อนสรีดภงค์ หรือทำนบพระร่วง

ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเมืองเก่า ทำนบนี้เป็นเขื่อนดิน (คันดิน) สำหรับกั้นน้ำอยู่ระหว่างซอกเขาระหว่าง เขาพระบาทใหญ่และเขากิ่วอ้ายมา เพื่อกักน้ำและชักน้ำไปตามคลองส่งน้ำมาเข้ากำแพงเมืองเข้าสระตระพังเงิน ตระพังทอง เพื่อนำไปใช้ในเมืองและพระราชวังในสมัยโบราณ ซึ่งปัจจุบันกรมชลประทานได้ปรับปรุงบูรณะและซ่อมแซมขึ้นใหม่

ทำนบพระร่วง


-----------------------------------------------------------------

นอกกำแพงเมืองด้านใต้

วัดเจดีย์สี่ห้อง

โบราณสถานที่น่าสนใจคือ เจดีย์ที่เข้าใจว่าเป็นทรงลังกา ที่ฐานมีลวดลายปูนปั้นเป็นรูปสิงห์ขี่ช้าง รูปเทวดาทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ถือแจกันดอกไม้ ลวดลายสวยงามมาก

วัดเจดีย์สี่ห้อง

 

-----------------------------------------------------------------

 

วัดเชตุพน

ศิลปกรรมที่น่าสนใจ คือมณฑปสร้างด้วยหินชนวน ประดิษฐานพระพุทธรูป สี่อิริยาบถ คือ พระพุทธรูปแบบนั่ง ยืน เดิน นอน ภายในมณฑปเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป มีการใช้วัสดุทั้งอิฐหินชนวน ศิลาแลง ในการก่อสร้างที่ประสานกันอย่างกลมกลืน ได้มีการพบศิลาจารึกหลักที่ 58 จารึกในปี พ.ศ. 2057 กล่าวว่าเจ้าธรรมรังสีสร้างพระพุธรูปในวัดนี้

วัดเชตุพน

 

-----------------------------------------------------------------

 

นอกกำแพงเมืองด้านตะวันออก

 

วัดช้างล้อม

เป็นโบราณสถานที่สำคัญ มีเจดีย์ทรงกลมแบบลังกาเป็นประธานของวัด รอบฐานเจดีย์ ประดับด้วย ปูนปั้นเป็นรูปช้างโผล่ครึ่งตัว ด้านหน้ามีฐานวิหารก่อด้วยอิฐ และยังมีฐานกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐล้อมรอบ

วัดช้างล้อม

-----------------------------------------------------------------

 

วัดตระพังทองหลาง

ศิลปกรรมที่สำคัญคือ มณฑปรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสก่อด้วยอิฐ ผนังด้านนอกประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ ตอนประทานเทศนาโปรดพระพุทธบิดากับกษัตริย์ศากยราช และตอนเสด็จโปรดนางพิมพา นับเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของสุโขทัย

วัดตระพังทองหลาง

-----------------------------------------------------------------

บริเวณพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 70 ตรกม. และมีโบราณสถานสำคัญที่น่าชมอีกมากมาย กรณีนักท่องเที่ยวมีเวลามาก โบราณสถานที่ควรชม นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น ใคร่ขอแนะนำดังนี้ ทิศตะวันออก วัดเจดีย์สูง วัดเกาะไม้แดง วัดหอดพยอม ทิศตะวันตก วัดพระบาทน้อย วัดเจดีย์งาม วัดมังกร วัดอรัญญิก วัดช้างรอบ ทิศใต้ วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม วัดต้นจัน วัดอโศการาม

อัตราการเข้าชมโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยต้องเสียค่าธรรมเนียมเข้าชมคนละ20 บาท และการนำยานพาหนะ 4-6 ล้อ เข้าเขตโบราณสถานต้องเสียค่าธรรมเนียมอีก 30 บาท ส่วนพาหนะเกิน 6 ล้อ ไม่อนุญาตให้นำเข้า กรณีเข้าชมเป็นหมู่เป็นคณะและต้องการวิทยากรนำชม หรือนักท่องเที่ยวที่ ต้องการสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับอุทยานฯ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต. เมืองเก่า อ. เมือง จ. สุโขทัย 64210 โทร. (055) 613241