ที่เที่ยว

  • ข้อมูล
เพิ่มรูป แก้ไข View : 2,136

ถ้ำตาด้วง

ที่ตั้ง
 หมู่ 1 บ้านปากคลอง ( เดิมอยู่ในเขตบ้านวังกุลา ) ตำบลช่องสะเดา อำเภอเมือง
 
 พิกัดทางภูมิศาสตร์
 เส้นรุ้งที่ 14o 15' 42" เหนือ เส้นแวงที่ 99o 12' 30" ตะวันออก พิกัดกริดที่ 47 NS / NR 765226 ระวางที่ 4837 IV
 
 การค้นพบ
 ครูด่วน ถ้ำทอง อดีตครูโรงเรียนประชาบาลในจังหวัดกาญจนบุรี ผู้สนใจและคลุกคลีอยู่กับคณะสำรวจ ฯ ไทย - เดนมาร์ก และคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ค้นพบถ้ำตาด้วงนี้เมื่อปี พ.ศ. 2507
 
 สภาพที่ตั้ง
 ถ้ำตาด้วง เป็นถ้ำหินปูน อยู่บนภูเขาวังกุลา ด้านทิศใต้ ถ้ำอยู่ติดริมหน้าผาสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 300 เมตร เป็นภูเขาที่สูงชันมาก ความลาดชันประมาณ 45 องศา โดยรอบภูเขาเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ภูมิประเทศโดยรอบเหมาะกับการตั้งถิ่นฐานและทำการกสิกรรม
 
 ลักษณะของถ้ำ
 
 ถ้ำตาด้วงหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หน้าถ้ำเป็นลานไม่กว้างนัก เพิงผาทางด้านขวามือหน้าโพรงถ้ำ สูงชันมาก โพรงถ้ำลึกประมาณ 6.9 เมตร สูงประมาณ 5 เมตร
 
 
 
 หลักฐานทางโบราณคดี
 
 พบเครื่องมือหินกะเทาะหลายชิ้น เศษภาชนะดินเผา และโครงกระดูกจากการสำรวจของกรมศิลปากร และชาวบ้านค้นพบ
 
 
 
 ภาพเขียนสี
 ถ้ำตาด้วงนี้ปรากฎภาพคนกับภาพสิ่งของ เป็นภาพเดี่ยวและภาพหมู่ กลุ่มภาพที่เด่นชัดที่สุดอยู่บนผนังเพิงผาด้านขวาหน้าทางเข้าโพรงถ้ำ สูงจากพื้นประมาณ 4.5 เมตร
 
 
 
 
 เป็นภาพกลุ่มคนจำนวน 19 คน เดินเรียงแถวคล้ายเป็นขบวนแห่ แบกวัตถุทรงกลมและทรงเหลี่ยมขนาดใหญ่ ซึ่งอาจเป็นฆ้องหรือกลอง เดินนำหน้าขบวนแห่ที่แบกโลงศพภาพคนเหล่านี้เขียนแบบเงาทึบ(silhouette)ด้วยสีแดงเกือบดำ แต่เขียนพอเป็นรูปร่างจึงทำให้ดูคล้ายเป็นภาพคนแบบกิ่งไม้ (stick man) อาจมีการตกแต่งประดับร่างกายหรือแสดง อวัยวะเพศ มีขนาดสูงประมาณ 15 - 30 ซม.
 
 
 
 ภาพคนอีกกลุ่มหนึ่ง อยู่ใต้กลุ่มภาพขบวนแห่ เขียนอยู่ในระดับแนวเดียวกัน สูงจากพื้นประมาณ1.5 เมตร ภาพค่อนข้างจาง แต่พอมองเห็นได้ 4 คน เป็นรูปคนขนาดใหญ่ เขียนด้วยสีแดงแบบเงาทึบ แสดงอาการเคลื่อนไหว กางขา ยกแขน มีเครื่องประดับบนศีรษะเหมือนขนนกหรือพู่หรือกิ่งไม้ นอกจากนั้นก็เป็นภาพคนเดี่ยวๆ ปรากฎบนผนังหน้าถ้ำและก้นโพรงถ้ำ เป็นภาพคนกำลังเหนี่ยวสายคันธนู
 
 
 ภาพเขียนที่ถ้ำตาด้วงนี้น่าจะอยู่ในยุคสำริดแล้ว อายุประมาณ 2,000 - 3,000 ปีมาแล้ว โดยสันนิษฐานจากภาพขบวนแห่กลอง ซึ่งน่าจะเป็นกลองมโหระทึก ชุมชนที่เขียนภาพเหล่านี้น่าจะใช้ถ้ำนี้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ หรือทำกิจกรรมที่สำคัญร่วมกัน อาจเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย (ภาพโลงศพ) หรือพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ หรือพิธีกรรมในการขอฝนก็ได้ ดังนั้นชุมชนนี้คงดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์และทำการกสิกรรมด้วย

 
ที่เที่ยวแนะนำ

-- ดูเพิ่ม --